The Photo News บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ กลโกง กับ AI *
บทความทางกฎหมาย โดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
กลโกง กับ AI *
ทุกวันนี้ มิจฉาชีพ เต็มเมือง มีข่าวการฉ้อโกง หลอกลวงการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่แทบทุกวัน มีการพัฒนารูปแบบ วิธีการ และเทคนิคในการฉ้อโกงจนแทบจะตามไม่ทัน ใครที่รู้ไม่เท่าทัน ก็อาจตกเป็นเหยื่อคนร้ายผู้ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี จนทำให้แทบจะไม่กล้าจะสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ทั้งที่เป็นการสั่งซื้อสินค้าที่สะดวก รวดเร็วและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ไม่ต้องออกไปตระเวนหาซื้อสินค้าในที่ต่างต่าง เพียงแค่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าทางโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ไอแพค เท็บเล็ต โนตบุค คอมพิวเตอร์ สุดแท้แต่สะดวก ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าได้แล้ว
แต่ความสะดวกดังกล่าว อาจทำให้ได้รับความเสียหายได้หากไปเจอมิจฉาชีพที่แฝงอยู่ในคราบผู้ขายสินค้า ทำให้ได้สินค้าไม่ตรงปก หรือ ไม่ได้สินค้าเลยแต่ต้องถูกหลอกให้โอนเงินไปก่อน ทำให้ คนซื้อ ไม่กล้าซื้อ (กลัวถูกหลอก) และ คนขาย (ที่สุจริต) ขายสินค้าไม่ได้
แล้ว AI คือ อะไร มาเกี่ยวข้องกับ การฉ้อโกง อย่างไร ?
AI มาจากคำว่า Artificial Intelligence หรือที่รู้จักว่า “ ปัญญาประดิษฐ์ ”
คือ เครื่องจักร ( machine) ที่มีฟังก์ชั่นที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ อาทิเช่นการรับรู้ การเรียนรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่างๆ เครื่องจักรที่มีความสามารถเหล่านี้ ก็ถือว่า เป็นปัญญาประดิษฐ์ AI : Artificial Intelligence นั่นเอง
ตัวอย่าง เทคโนโลยี AI ที่ทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น เช่น การปลดล็อคหน้าจอโทรศัพท์ด้วย face ID , โซเชี่ยลมีเดี่ย ( เลือกโพสต์ต่างๆที่สนใจขึ้นมาโชว์) , การส่งอีเมลล์ หรือ ข้อความต่างๆ, การค้นหาบน Google , การสั่งงานด้วยเสียง, อุปกรณ์สมาร์ทโฮม, การเดินทางไปทำงาน , ธุรกรรมทางการเงิน
ความอัจฉริยะของ AI นี่เองจึงถูกนำมาใช้ในก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( ทั้งทางตรงและทางอ้อม)
อาชญากรทางเทคโนโลยี มักจะใช้เทคโนโลยีมาก่อเหตุ เช่น สร้างเพจปลอมให้เหมือน หรือคล้ายกับเพจของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการเงิน จากนั้นก็จะใช้ AI ส่งข้อความ ส่งเมลล์ให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป (จำนวนมาก) เพราะจะมีผู้รับข้อความ หรือรับเมลล์บางส่วนหลงเชื่อในข้อความหรือ เมลล์นั้น และอาจทำตามข้อความหรือเมลล์นั้น อันจะมีผลทำให้คนร้ายสามารถเข้าควบคุมทางไกลระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ และข้อมูลต่างๆในระบบคอมพิวเตอร์ของเราได้ จากนั้นก็อาจถูกคนร้ายทำธุรกรรมทางการเงินแทนเราได้
นอกจากนี้ คนร้ายอาจสร้าง LINK ปลอม ให้น่าสนใจ แล้วใช้ AI ส่ง link ไปยังที่ต่างๆ หรือในหลายแพลตฟอร์ม หากเหยื่อหลงเชื่อสนใจแล้วไปกดเปิดอ่าน ก็จะทำให้คนร้ายสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลโทรศัพท์มือถือของเราได้ จากนั้นก็อาจถูกคนร้ายธุรกรรมทางการเงินแทนเราได้
แม้แต่ ภาพบุคคลที่เราเห็น อาจจะไม่ใช่บุคคลจริงก็ได้ เพราะ เทคโนโลยี AI สามารถสร้างภาพบุคคลเสมือนจริง (มากมาก) ได้เลย สามารถพูดโต้ตอบได้ด้วย
มีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องจริง
มีการโพสต์ขายโทรศัพท์มือถือราคาส่ง สด – ผ่อน ในเพจเพจหนึ่ง ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาให้เห็นว่า มีผู้ถูกใจ และมีผู้ติดตาม เกือบแสนคน ทำให้ดูน่าเชื่อถือ มีการแสดงภาพหน้าร้านใหญ่โต มีการแสดงหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ทำให้ดูน่าเชื่อถือ ( แต่ไม่รู้ว่า เป็นหน้าร้านจริง และเป็นใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทฯ จริงหรือไม่ )
ในสภาวะเช่นนี้ หากสามารถผ่อนชำระสินค้า (มือถือ) แต่สามารถมี ไอโฟน มาใช้มาครอบครองได้ก่อน ย่อมเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อ เหยื่อ สนใจ ไอโฟน 14 – 128 GB ทาง มิจฉาชีพ จึงเสนอราคาที่น่าเย้ายวนใจ ราคาสามหมื่นกว่าบาท โดยมีเงื่อนไขต้อง วางดาวน์ ห้าพันกว่าบาท ส่วนที่เหลือสามารถผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละประมาณ หนึ่งพันห้าร้อยกว่าบาท อีกสิบหกงวด เมื่อวางดาวน์แล้วสามารถรับเครื่องไปใช้ได้เลย (ตรงนี้แหละที่เหยื่อ และ คนทั่วไปสนใจ) และเพื่อให้ เหยื่อ ตายใจ มิจฉาชีพ ได้สร้าง บิลเงินสด (ปลอม) ขึ้นมาให้มีรูปแบบมาตรฐาน ทำให้เหยื่อเกิดความเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงพร้อมที่จะโอนเงินดาวน์ให้แก่ มิจฉาชีพ
แต่ มิจฉาชีพ สร้างเงื่อนไขว่า “ หาก ผู้ซื้อ ( เหยื่อ) โอนเงินจากบัญชีธนาคาร ให้ระบุข้อความ บันทึกช่วยจำว่า “( ว่า วางดาวน์เครื่อง) ข้อความแบบนี้นี่เองเป็นจุดที่มิจฉาชีพใช้เป็นข้ออ้าง ( ตามปกติ เวลาเราโอนเงินโดยใช้แอปพลิเคชัน เรามักจะบันทึกข้อความช่วยจำ โดยลงรายละเอียดว่า “ โอนเงินให้ใคร เป็นค่าอะไร หรือรายละเอียดต่างๆ” คงไม่มีใครใช้คำว่า ( ว่า วางดาวน์เครื่อง) และยังให้ใส่วงเล็บด้วย
และเมื่อ เหยื่อ หลงเชื่อได้โอนเงินดาวน์เครื่องจำนวนห้าพันกว่าบาทไปแล้ว ก็ได้ส่งสลิปการโอนเงินที่บันทึกช่วยจำไปให้
มิจฉาชีพ ก็จะโต้ตอบกลับมาทันทีว่า “ คุณลูกค้าบันทึกช่วยจำผิดนะคะ ต้องบันทึกช่วยจำตามที่แม่ค้าส่งให้เท่านั้น ” และข้อความว่า “ ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งเป็นลายลักษณ์อักษร และเว้นวรรคให้กับลูกค้าได้ทราบอย่างชัดเจนแล้ว ขอแจ้งเกี่ยวกับของเราก่อนนะคะ เราใช้เป็นระบบ AI หรือ Artificial Intelligence หรือเรียกอีกอย่างว่า ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความปลอดภัยในระบบสากล ระบบไม่สามารถตรวจจับสลิปของลูกค้าได้นะคะ ทางเราต้องขอให้ลูกค้าทำรายการเข้ามาใหม่ และบันทึกความจำอย่างถูกต้องนะคะ”
จะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ กล่าวอ้างว่า “ เขาใช้ระบบ AI มาตรวจจับว่า ใครโอนเงินมาให้เขาบ้าง และ เรา (เหยื่อ) โอนเงินมาเข้าบัญชีเขาหรือยัง” และ ระบบ AI ของเขา ตรวจไม่พบการโอนเงินของเรา (เหยื่อ)
มิจฉาชีพก็จะบอกให้เรา โอนเงินดาวน์จำนวนห้าพันกว่าบาทเข้ามาใหม่ และให้บันทึกช่วยจำตามข้อความที่เขาแจ้ง พร้อมทั้งแจ้งให้เหยื่อด้วยข้อความว่า “ ส่วนยอดเก่าที่ลูกค้าโอนมาลูกค้าไม่ต้องกังวลนะคะ จะได้รับคืนหลังจากที่ลูกค้าทำรายการอย่างถูกต้อง”
ซึ่งเหยื่อก็มักจะหลงเชื่อว่า “ระบบ AI ของเขาอาจตรวจไม่พบจริงจริงก็ได้ เพราะเรา (เหยื่อ) อาจจะไม่ได้พิมพ์บันทึกช่วยจำด้วยถ้อยคำ ( ว่า วางดาวน์เครื่อง) และเว้นวรรคตามที่เขาแจ้งก็อาจเป็นได้ เหยื่อก็จะทำการโอนเงินดาวน์เครื่อง จำนวนห้าพันกว่าบาทไปให้ใหม่
และเมื่อเหยื่อโอนเงินดาวน์เครื่องจำนวนห้าพันกว่าบาท ( ครั้งที่สอง) ไปให้มิจฉาชีพแล้ว คราวนี้มั่นใจว่า ได้บันทึกช่วยจำว่า ( ว่า วางดาวน์เครื่อง ) ถูกต้อง เว้นวรรคถูกต้อง คราวนี้ไม่พลาดแน่ ระบบ AI ต้องตรวจเจอแน่
มิจฉาชีพ ตอบกลับมาว่า “ มีค่าจัดส่งอีก 159 บาทและค่าประกันสินค้าอีก 5,000 บาท” “ คุณลูกค้าต้องโอนเงินเพิ่มอีก 5,159 บาท ไปให้เขาอีก
เหยื่ออุทานเสียงหลง “หาอะไรนะ ต้องโอนเงินเพิ่มอีกหรือ ? ” โอนเงินไปให้หมื่นกว่าบาทแล้ว ยังไม่ได้ของเลย” คราวนี้ “ สติมา ปัญญาเกิด” จึงตัดสินใจว่า ไม่เอาแล้ว พอแล้ว ขอยกเลิกการสั่งซื้อ และขอเงินคืน จึงแจ้งไปยัง เพจ (มิจฉาชีพ)ว่า ขอยกเลิกการสั่งซื้อ และขอเงินคืนด้วย”
มิจฉาชีพใจดีตอบว่า “ ได้คะ แต่ต้องโอนเงินจำนวน 4,999 บาทมาเป็นค่ายกเลิก เพราะลูกค้าทำรายการไม่สำเร็จ ระบบ AI ไม่สามารถทำการยกเลิกได้” แถมยังบอกว่า หากโอนเพิ่ม 4,999 บาท แล้วได้เงินคืนทั้งหมดแน่นอน
เหยื่อคิดได้ว่า “ โอนเงินไปให้แล้ว ห้าพันกว่าบาทจำนวนสองครั้ง รวมเป็นเงินหมื่นกว่าบาทแล้ว หากจะต้องโอนเงินค่ายกเลิกอีก 4,999 บาทไปให้อีก ก็ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวจะเคลียร์ จึงอยากจะโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วย เพราะคุยกันในเพจ เป็นข้อความโต้ตอบกัน จึงอยากโทรไปเพื่อพูดคุยและ ขอความเห็นใจ ให้ช่วยคืนเงินมาให้หน่อย
เพจ (มิจฉาชีพ) ตอบว่า “ ตอนนี้ลูกค้าแน่นร้าน มีอะไรติดขัดตรงไหนให้สอบถามในเพจได้เลย” เหยื่อจึงเริ่มแน่ใจแล้วว่า ถูกหลอกถูกฉ้อโกงแน่นอน เพราะภาพที่แสดงในเพจเป็น ร้านค้าใหญ่โต มีหน้าร้านน่าเชื่อถือ มีหนังสือแสดงการจดทะเบียนบริษัทฯ แต่ไหงกลับไม่มีและไม่ยอมให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ
เหยื่อจึงได้ไป “ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน” เพื่อให้ดำเนินคดีกับ มิจฉาชีพที่มาหลอกลวงและฉ้อโกงเหยื่อ และ ได้ไปแจ้ง “ ขออายัดบัญชีเงินฝากของมิจฉาชีพ” ที่เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไป
ซึ่งตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มาตรา 7 เมื่อ สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่า ได้มีการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ สถาบันการเงิน หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว และ แจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง ......” ( อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ ผู้เสียหายไปแจ้งธนาคาร หรือสถาบันการเงินเพื่อขออายัดบัญชีคนร้ายไว้ก่อนเพื่อไม่ให้คนร้ายโอนเงิน หรือยักย้ายถ่ายเทเงินออกไปได้ แล้ว แต่ ธนาคาร หรือสถาบันการเงินกลับปฏิเสธ โดยแจ้งให้ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจก่อน ซึ่งกว่าจะไปแจ้งความเสร็จ คนร้ายก็ยักย้ายถ่ายเทโอนเงินไปถึงไหนแล้ว )
นี่คือตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ สร้างเพจปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ ขายสินค้าที่ประชาชนสนใจ เสนอราคาและเงื่อนไขที่น่าสนใจ แล้วใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพื่อหลอกลวง ใช้ระบบ AI หรือ Artificial Intelligence หรือ “ ปัญญาประดิษฐ์ ” มาก่อเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( ทั้งโดยตรง และโดยกล่าวอ้าง เช่นกล่าวอ้างว่า “ระบบ AI ตรวจไม่พบการโอนเงิน” ดังเช่นกรณีนี้
ฉะนั้น การป้องกันความเสียหายอันเกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือ “ การสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการรู้เท่าทัน” รู้เท่าทันคนร้าย รู้เท่าทันเทคโนโลยี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและภัยร้าย”
การจะ “รู้เท่าทัน” ดังกล่าวอาจเริ่มจากการอ่าน การฟัง การติดตามข่าวสารในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือ “ ตรวจสอบให้ดีก่อนสั่งซื้อ หาข้อมูลผู้ขาย ข้อมูลสินค้าก่อนซื้อ ข้อมูลของผู้ที่ติดต่อ ชักชวนเราให้ลงทุน ชักชวนให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่กด link ที่ไม่รู้แหล่งที่มา หรือ link ที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือ link แปลกแปลก , linkข่าวน่าสนใจ (จังเลย)
นอกจาก “การรู้เท่าทัน” แล้ว ต้อง “รู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ด้วย
นี่คือ ที่มาที่ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่องนี้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยก่อนหน้านี้ได้เขียนบทความเรื่อง “มารู้จักพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566” กันเถอะ (หาอ่านได้ในเพจของผู้เขียน)
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น